chessหรือหมากรุกสากล
Chess หรือ หมากรุกฝรั่ง เล่นบนกระดาน 8 x 8 เหมือนหมากรุกไทย ตัวกระดานต่างกันที่ช่องหมากบนกระดานของหมากรุกไทย เราไม่จำเป็นต้องระบายสี แต่กระดานหมากรุกฝรั่งระบายสีขาว-ดำสลับกัน มีประโยชน์ช่วยให้มองตาเดินของบิชอบซึ่งเดินในแนวทแยงได้สะดวก จำนวนหมากที่ใช้เล่นก็มีจำนวนเท่ากับหมากรุกไทย การจัดเรียงตำแหน่งเริ่มต้นต่างกันเล็กน้อย คือ วางเบี้ยไว้แถวที่สอง ในขณะที่หมากรุกไทยวางเบี้ยแถวที่สาม และตำแหน่งของคิงทั้งสองฝ่ายอยู่ตรงกัน (หมากรุกไทยคิงหรือขุน จะอยู่ทางซ้ายมือ) จุดประสงค์ของเกมหมากรุกทุกชนิดเหมือนกันหมด นั่นคือ สังหาร (checkmate) คิงศัตรู
ตัวหมากรุกฝรั่งมีเพียง 6 ตัว แบ่งเป็นสองฝ่าย ฝ่ายสีขาว กับ ฝ่ายสีดำ ถ้าคุณรู้จักวิธีการเดินแต่ละตัวและกติกาที่สำคัญอีกไม่กี่ข้อ คุณก็พร้อมที่จะเล่น chess แล้วละครับ ข้อควรรู้เริ่มต้นคือกระดานหมากรุกฝรั่งจะวางให้ช่องสีดำอยู่เป็นมุมล่างซ้าย ถ้าคุณก้มลงมองกระดานแล้วพบว่ามุมล่างซ้ายเป็นสีขาว ก็อย่าลืมจับมันหมุน 90 องศาก่อนจัดเรียงตัวหมากนะครับ และฝ่ายที่เล่นเป็นสีขาวเป็นผู้ได้เดินก่อน
1. คิง (King, )
คิงเป็นตัวที่มีค่าสูงสุด ตำแหน่งเริ่มต้นของคิงสำหรับหมากสีขาวอยู่บนช่องสีดำ ตำแหน่งคิงดำเริ่มต้นอยู่บนช่องขาว คิงเดินได้หนึ่งช่องทุกทิศรอบตัวที่เดินไปแล้วไม่ถูกฆ่าตาย (ดังรูป) แต่จะมีการเดินกรณีพิเศษที่เดินได้ไกลกว่าหนึ่งช่อง ซึ่งผมจะกลับมาเล่ากติกาตรงจุดนี้ให้ฟังอีกทีเมื่อแนะนำหมากครบทั้งหกตัวครับ
2. ควีน (Queen, )
เวลาสังเกตสัญลักษณ์เพื่อแยกความแตกต่างระหว่างคิงกับควีน ให้ดูไม้กางเขนกับมงกุฏ คิงจะมีไม้กางเขน ส่วนควีนมีมงกุฏ ควีนเป็นตัวหมากที่มีพลังอำนาจสูงสุด ตำแหน่งเริ่มต้นวางอยู่ติดกับคิง ควีนขาวอยู่บนช่องสีขาว ควีนดำอยู่บนช่องสีดำ ควีนทั้งสองฝั่งเผชิญหน้ากัน ควีนสามารถเดินได้ยาวในแนวนอน แนวตั้ง และแนวเส้นทแยงมุม
ตัวหมากรุกทุกตัวยกเว้นม้า (อัศวิน) ไม่สามารถเดินข้ามหมากตัวอื่นได้ และการกิน (capture) คือ การที่หมากฝ่ายหนึ่งเดินไปยังตำแหน่งที่หมากของฝ่ายคู่ต่อสู้อยู่ เวลาเรากินหมากของคู่ต่อสู้ เราก็ยกหมากของคู่ต่อสู้ออกจากกระดานแล้ววางหมากของเราลงไปแทนที่ ตัวหมากรุกทุกตัวยกเว้นเบี้ย (pawn) จะกินกันได้ในทางที่เดินเท่านั้น สองรูปข้างล่างนี้แสดงให้เห็นว่าควีนเดินข้ามหมากตัวอื่นไม่ได้ (ซ้าย) ตำแหน่งที่ควีนสามารถเดินไปได้ระบายด้วยสีเขียว และ แสดงหมากที่ควีนขาวสามารถเลือกกินได้ (ขวา)
3. บิชอบ (Bishop, )
แต่ละฝ่ายมี 2 ตัวยืนขนาบข้างคิงกับควีน ดังนั้นจึงยืนอยู่บนคนละช่องสี บิชอบเดินได้เฉพาะในแนวทแยงมุม ยาวเท่าไรก็ได้ตราบเท่าที่ยังไม่กระโดดข้ามตัวหมาก รูปซ้ายแสดงทิศการเดิน รูปขวาแสดงตัวอย่างบิชอบขาวกินเรือดำ ข้อสังเกตอย่างหนึ่งของบิชอบคือ มันเดินไปยังช่องสีที่มันไม่ยืนอยู่ไม่ได้ พูดง่าย ๆ ว่ากระดาน 64 ช่อง บิชอบแต่ละตัวครอบครองพื้นที่ที่สามารถเดินได้เพียง 32 ช่อง ถึงแม้ว่ามันจะเป็นตัวหมากที่เดินได้ยาว แต่ด้วยข้อจำกัดนี้เองทำให้ค่าของมันน้อยเมื่อเทียบกับเรือ
4. ม้าหรืออัศวิน (Knight, )
เดินเหมือนม้าหมากรุกไทยทุกประการ ไม่มีข้อจำกัดยกเว้นใด ๆ เหมือนหมากรุกจีนหรือญี่ปุ่น รูปซ้าย ช่องสีแดง คือช่องที่ม้า e4 สามารถเดินได้ และรูปขวาแสดงให้เห็นว่าม้า e4 สามารถกระโดนข้ามหมากไปยังช่องที่ระบายด้วยสีเขียวได้ โดยทั่วไปเซียนหมากรุกสากลมักจะให้ค่าของม้ากับบิชอบเท่า ๆ กัน แต่ค่าที่แท้จริงของมันขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่มันยึดครองอยู่บนกระดาน
5. เรือหรือป้อมปราการ (Rook, )
เดินเหมือนเรือหมากรุกทุกชนิด คือ เดินยาวได้แนวตั้งและแนวนอน (ดูรูปซ้าย) เรือเป็นตัวหมากที่มีพลานุภาพรองลงมาจากควีน โดยตัวไปการกำหนดค่าของตัวหมากรุกจะถือค่าดังนี้ คิงมีค่าสูงสุด, ควีน = 9, บิชอบ = ม้า = 3, เรือ = 5 และเบี้ย = 1 มีข้อควรรู้เกี่ยวกับการเดินคิงและเรือพร้อมกันที่น่าสนใจแบบหนึ่ง เราเรียกว่าการ "เข้าป้อม" หรือ "Castling" บรรดาเซียนหมากรุกนิยมแนะนำให้เข้าป้อมให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ การเข้าป้อมคือการเดินคิงไปทางซ้ายหรือขวา 2 ช่อง แล้วนำเรือมาวางไว้อีกด้านหนึ่งของคิง การเข้าป้อมเกิดขึ้นได้ 2 ลักษณะคือการเข้าป้อมฝั่งควีน (Queen's side) และการเข้าป้อมฝั่งคิง (King's side) ดูรูปขวาแสดงการแบ่งฝั่ง
เงื่อนไขสำคัญสำหรับการเข้าป้อมคือ 1.คิงยังไม่เคยเดินมาก่อน 2.เรือฝั่งที่จะเข้าป้อมก็ยังไม่เคยเดินมาก่อน และ 3.ไม่มีตัวหมากรุกอื่นคั่นกลางระหว่างคิงกับเรือ ตัวอย่างรูปด้านล่างแสดงตรงตามเงื่อนไขทั้ง 3 ข้อ พร้อมที่จะเข้าป้อมได้
คราวนี้ลองมาดูรูปหน้าตาหลังจากเข้าป้อมกันบ้าง รูปด้านซ้ายแสดงการเข้าป้อมฝั่งคิง รูปด้านขวาแสดงการเข้าป้อมฝั่งควีน
มีข้อห้ามสำคัญ 3 ข้อสำหรับการเข้าป้อม คือ ห้ามเข้าป้อมถ้าหากคิงกำลังถูกรุก ดูรูปตัวอย่างด้านล่าง คิงขาวไม่สามารถหนีการรุกด้วยการเข้าป้อมได้ เพราะปราสาทดำกำลังรุกคิงขาว (การรุก หรือ check คือการเดินตัวหมากเพื่อจะสังหารคิงของฝ่ายตรงข้ามในตาถัดไป ดังนั้นฝ่ายที่ถูกรุกต้องปกป้องคิง โดยวิธีการใดวิธีการหนึ่งอาทิ หนี, หาตัวหมากมาป้องกันการรุก หรือ ฆ่าตัวที่มารุก)
ห้ามเข้าป้อมแล้วตาย ดูตัวอย่างดังรูปซ้าย ถ้าคิงเข้าป้อมฝั่งคิงจะทำให้คิงไปยืนที่ g1 ซึ่งเป็นที่ที่บิชอบดำ d4 สามารถกินคิงได้ ดังนั้นห้ามเข้าป้อมแล้วตายนะครับ และถึงแม้ว่าเข้าป้อมแล้วไม่ได้ แต่ในการเข้าป้อมนั้นเดินผ่านช่องที่ทำให้ตาย ก็ไม่มีสิทธิเดินผ่านเช่นกัน ดูรูปตัวอย่างขวา ถ้าคิงเข้าป้อมฝั่งควีนจะไปยืนที่ c1 ซึ่งเป็นที่ที่ปลอดภัย แต่การเดินไป c1 คิงต้องผ่าน d1 ซึ่งเป็นที่ที่ควีนดำ d4 สามารถกินคิงได้ กรณีนี้คิงก็ไม่มีสิทธิเข้าป้อมฝั่งควีนเช่นกัน
พูดถึงตรงนี้ขอเสริมกติกาที่ดูเหมือนไม่สำคัญ แต่ในการแข่งขันแล้วสำคัญมากข้อหนึ่งคือ touch-move rule หมายถึง จับหมากตัวใดต้องเดินตัวนั้น แต่ถ้าเจตนาของเราในการจับหมากเพื่อจัดให้มันเป็นระเบียบ จะต้องบอกให้ชัดเจนก่อนจับว่าต้องการแค่เพียงจัด จะพูดเป็นภาษาฝรั่งเศสเท่ ๆ ว่า "j'adoube" (I adjust) ก็ได้ครับ ตรงนี้สำคัญเวลาเข้าป้อม เพราะเวลาเข้าป้อมเราจะต้องเดินหมากสองตัว ให้จำไว้ว่าเดินคิงก่อน (จับคิงก่อน) จะมาเดินเรือก่อนไม่ได้ ถ้าเผลอไปจับเรือแล้ว ก็อดเข้าป้อมครับ
6. เบี้ย (Pawn, )
ในภาษาเยอรมันเรียก pawn ว่า Bauer หมายถึง ชาวนา แต่อย่าดูถูกชาวนาไป เพราะกติกา chess ข้อหนึ่งยินยอมให้ชาวนาสามารถผลิกผันชีวิตตัวเองเป็นอะไรก็ได้ ยกเว้นคิง เมื่อชาวนาตัวนั้นเดินไปจนสุดปลายกระดาน เราเรียกว่าการเลื่อนตำแหน่ง (Promotion) ใน chess ชาวนา สามารถเป็นพระราชินี เป็นพระสังฆราช เป็นอัศวิน หรือเป็นป้อมปราการได้ แต่สำหรับชาวนาในหมากรุกไทย การเลื่อนตำแหน่งสูงสุดที่เป็นไปได้คือเม็ด อันหมายถึง นายทหารชั้นผู้น้อยเท่านั้นเอง เบี้ยนั้นเดินได้ตรงหน้าเพียงอย่างเดียว และเดินได้ทีละ 1 ช่อง จะเดินข้าง ถอยหลัง เฉียงซ้ายขวาไม่ได้ เดินหน้าต่อไปจนกว่าจะถึงแถวที่ 8 จึงเลื่อนตำแหน่งพ้นจากวิถีชีวิตชาวนา แต่การเดินเบี้ยซึ่งปกติจะเดินได้ทีละช่องนั้นมีข้อยกเว้นอยู่ว่า ในการเดินครั้งแรกของเบี้ยแต่ละตัว สามารถเดินทีเดียว 2 ช่องได้ สังเกตเบี้ยตำแหน่ง a2 สามารถเดินไปตำแหน่ง a4 ได้ (รูปซ้าย) แต่เวลากิน กินเฉียง (จำง่าย ๆ ว่า เดินตรงกินเฉียง) ดูรูปขวา
มีกติกาเกี่ยวกับการเดินเบี้ยที่สำคัญมากข้อหนึ่งเรียกว่า En Passant เป็นภาษาฝรั่งเศส หมายถึง in passing ในภาษาอังกฤษ เมื่อสัปดาห์ที่แล้วกิ๊กของเพื่อนซึ่งเป็นชาวเยอรมัน มาแวะเยี่ยมที่ร้านเหล้า น้องสาวเชียร์แขกในร้านคนหนึ่ง (กำลังจะไปเรียนต่อเอกที่เวียนนาเดือนกันยายนนี้ - หมายเหตุ ตอนเขียนแนะนำเรื่องเชสผมเขียนตอนปี 2549) ก็ชวนกิ๊กของเพื่อนเล่นเชส ตามประสาคนมุงทั่วไปก็อดเสือกไม่ได้ เมื่อเห็นว่าทั้ง 2 ฝ่ายไม่รู้กติกาข้อ en passant และบ่อยครั้งที่เล่นหมากรุกในร้านเหล้าแล้วหลายคนงงเมื่อผมใช้กฏข้อนี้กินเบี้ยของเขา เรามาดูตัวอย่างกันครับ เริ่มจากสถานการณ์ตามรูปซ้าย สมมติว่าต่อไปเป็นทีฝ่ายดำเดิน ฝ่ายดำอาจคิดว่า จะเดินโดยใช้กติกาที่อนุญาตให้เดินได้ 2 ช่องในการเดินทีแรก เพื่อให้ได้ผลตามรูปขวาก็น่าจะปลอดภัย ไม่ถูกเบี้ยขาวกิน เพราะถ้าเดินขึ้น 1 ช่องตรง ๆ ในตาต่อไปเบี้ยขาวสามารถจับกินได้
กติกาข้อ En Passant ระบุว่า ถ้าเบี้ยเดิน 2 ช่องซึ่งผ่านช่องที่เบี้ยอีกฝ่ายหนึ่งสามารถสังหารได้ เบี้ยอีกฝ่ายสามารถจับสังหารได้ตามปกติในตาถัดไป ดังรูปตามลำดับ
เพราะฉะนั้นการเดินเบี้ยขึ้นมา 2 ช่องต้องคำนึงถึงจุดนี้ให้ดี แต่ถ้าในตาถัดไป เบี้ยฝ่ายขาวไม่จับเบี้ยดำกิน (เพราะดำผ่านช่องกินของขาว) เดินตัวอื่นแทน ฝ่ายขาวจะจับกินเบี้ยดำย้อนหลังไม่ได้อีกแล้ว ดังนั้นถ้าเบี้ยขาวจะจับดำกินด้วยกติกา en passant ต้องจับกินทันทีในตาถัดไป